กรมทางหลวง ได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามทิศทางของการพัฒนาระบบคมนาคมและขนส่ง ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมมาตามลำดับ โดยทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก) ช่วงบางปะอิน-บางพลี เป็นทางหลวงพิเศษที่รองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพ ปริมณฑลและพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งภายในปี พ.ศ. 2563 จะมีการเปิดให้บริการถึงมาบตาพุด นับเป็นเส้นทางหลักซึ่งจะเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมกับประตูของประเทศทั้งทางน้ำและทางอากาศ ส่งเสริมและรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ ตามนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor)
ทั้งนี้ ภายหลังจากการเปิดให้บริการโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองดังกล่าวมามากกว่า 20 ปี การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางเพิ่มขึ้น ทั้งที่เปลี่ยนแปลงเป็นชุมชนเมือง การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และเขตอุตสาหกรรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของถนนและการใช้ประโยชน์บริเวณทางเข้า-ออก โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ผลจากการพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มผู้ใช้บริการทางหลวงพิเศษในบางพื้นที่อยู่ห่างจากทางเชื่อมจุดทางเข้า-ออก ทำให้ไม่ได้รับความสะดวก จะต้องเดินทางโดยอ้อมไปบนโครงข่ายถนนทั่วไป ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจและเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มจุดเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษฯ จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางหลวงพิเศษฯ และส่งเสริมการพัฒนาของประเทศต่อไป เกิดความยั่งยืนในการยกระดับการให้บริการต่อผู้ใช้ทาง